ผ้าบาติก เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์ทางลวดลายและสีสันที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะผ้าบาติกเป็นผลงานของชาวอินโดนีเซียที่ได้มีการผสมผสานระหว่างศิลปะและเทคโนโลยีมาตั้งแต่ยุคบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน
นับเป็นเวลามากกว่า 1,500 ปีแล้ว โดยผ้าบาติกของชาวอินโดนีเซียมีจุดเด่นที่ไม่มีใครเทียบได้ทั้งในด้านการออกแบบลวดลาย เทคนิคต่าง ๆ ของการใช้สี ไปจนถึงกระบวนการผลิตที่ละเอียด ซึ่งผ้าบาติกจากอินโดนีเซียประเภทต่าง ๆ ที่ถูกผลิตออกไปจะเต็มไปด้วยความหมายและปรัชญาจากขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมต่าง ๆ ในประเทศ
โดยคำว่า “บาติก” (Batik) เป็นภาษาชาวชวา มีความหมายว่า บา (Ba) = ศิลปะ, ติก (Tik) = จุด ซึ่งสื่อถึงลวดลายบนผ้า รวม ๆ กันแล้วก็จะมีความหมายว่า “ศิลปะแห่งลวดลาย” นั้นเอง ในสมัยก่อน การผลิตผ้าบาติกในอินโดนีเซียจะใช้การจุ่มน้ำเทียนมาวาดลวดลายบนพื้นผ้า แล้วนำมาระบายสี จากนั้นย้อมสีอีกเป็นสิบ ๆ ครั้ง จนกว่าจะได้สีที่ชัดเจน ซึ่งใช้เวลาทำที่ค่อนข้างนานกว่าจะเสร็จสักผืน
แต่ในปัจจุบัน วิธีนี้จะใช้แค่บางพื้นที่เท่านั้น เพื่อสืบทอดขนบธรรมเนียมของผ้าบาติกแบบดั้งเดิม
ผ้าบาติก แฟชั่นผ้าสีสันสดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากอินโดนีเซีย
ในปัจจุบันผ้าบาติกเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งในตลาดอินโดนีเซียเองและตลาดโลก ทำให้การออกแบบลวดลายและการย้อมสีต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทน ตอนนี้ผ้าบาติกในอินโดนีเซียจึงถูกประยุกต์ใช้เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นของคนอินโดนีเซียที่นิยมใส่ในชีวิตประจำและออกงานต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นผ้าโสร่ง เสื้อผ้าออกงานสำหรับผู้ชาย ชุดเดรสออกงานผู้หญิง ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนแล้วผ้าบาติกจะเป็นผ้าที่นิยมใช้ในชนชั้นสูงเท่านั้น
แต่ด้วยวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปจากยุคสู่ยุค บวกกับอินโดนีเซียมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่คล้าย ๆ กับประเทศอิสลามต่าง ๆ ในเอเชีย เช่น มาเลเซีย อินเดีย หรือทางภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ผ้าบาติกเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น
แม้ว่าผ้าบาติกจะมีการออกแบบลวดลายหลากหลายพันแบบ แต่การออกแบบเฉพาะนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเทศกาลตามประเพณี ความเชื่อ พิธีกรรมทางศาสนา และสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของพื้นที่ โดยบางคนเชื่อกันว่า ผ้าบาติกบางชนิดมีการฝังพลังวิเศษในการปัดเป่าลางร้ายและนำโชคดีมาให้ เช่น ผ้าบาติกแต่งงาน เป็นผ้าบาติกบางแบบสงวนไว้สำหรับเจ้าสาวและเจ้าบ่าว เพื่อนำโชคลาภเข้ามาในชีวิตคู่
นอกจากนี้โดยทั่วไปแล้ว การออกแบบลวดลายบนผ้าบาติกมีสองประเภทใหญ่ ๆ นั้นก็คือ ลวดลายเรขาคณิต และการลวดลายรูปแบบอิสระซึ่งจะอิงจากลวดลายธรรมชาติหรือคลื่น เป็นต้น
ตัวอย่างลวดลายที่เป็นนิยมในอินโดนีเซีย
- Kawung: เป็นอีกหนึ่งการออกแบบลวดลายที่เก่าแก่มาก ซึ่ง Kawung ก็คือวงกลมที่ตัดกัน หรือ วงรี นั้นเอง เป็นลายที่รู้จักในชาวชวาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบสาม การออกแบบนี้มาจากลายแกะสลักบนผนังของวัดหลายแห่งของชวา เช่น วัด Parambanan ใกล้ชวาตะวันออก โดยลวดลายนี้เป็นจะลวดลายสงวนไว้ใช้สำหรับราชสำนักของสุลต่านแห่ง Jogjakarta เท่านั้น
- Parang: มีความหมายได้หลายรูปแบบ เช่น หินขรุขระ ใบมีด หรือ ใบมีดหัก โดยการออกแบบปารังประกอบด้วยแถวที่ลาดเอียงของส่วนที่คล้ายมีดหนาวิ่งเป็นแถบทแยงมุมขนานกัน ปกติปารังจะสลับสีแถบระหว่างสีเข้มกับสีอ่อน ซึ่ง Parang ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “Parang Rusak” เป็นลวดลายแบบคลาสสิกที่มีการสลับ การเล่นสี Parang ได้อย่างนุ่มนวล ซึ่งลวดลายนี้เคยใช้ได้เฉพาะในราชสำนักชวากลางเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการอนุญาตให้ใช้ทั่วทุกพื้นที่แล้ว
- Ceplok: เป็นชื่อทั่วไปของการออกแบบทางเรขาคณิต ไม่ว่าจะเป็น สี่เหลี่ยม สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน วงกลม ดาว ฯลฯ รูปทรงเรขาคณิตนี้เป็นการแสดงถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมและการจัดสไตล์ของดอกไม้ ดอกตูม เมล็ดพืช และแม้กระทั่งสัตว์ของแต่ละพื้นที่ มีความเข้มของสีที่แปรผันสามารถสร้างภาพลวงตาของความลึกได้ แต่การวาดลายรูปแบบนี้จะมีข้อกำจัดด้วยประชากรชาวอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่ที่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งเป็นศาสนาที่ห้ามไม่ให้มีการแสดงภาพสัตว์และรูปแบบมนุษย์ในลักษณะที่สมจริง งานผ้าบาติกที่อินโดนีเซียจึงพยายามไม่สร้างลวดลายสัตว์หรือคนขึ้นมาเลย
ลวดลายที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเพียงแค่แบบพื้นฐานทั่วไปเท่านั้น เพราะปัจจุบันลวดลายผ้าบาติกในอินโดนีเซียมีเยอะมากที่ไม่สามารถนำมาเสนอได้หมด เอาเป็นว่าหากใครเห็นแล้วชอบลายแบบไหน สามารถถามถึงความเป็นมาของลายนั้นกับคนขายได้เลย หรือถ้าใครที่มองหาการออกแบบลวดแฟชั่นชั้นสูงอยู่ละก็ คุณอาจจะต้องใช้เงินเยอะหน่อยนะ เพราะแฟชั่นเหล่านั้นมีราคาการสร้างผลงานที่แพง มีความละเอียดเยอะ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเลยทีเดียวกว่าจะถ้าผ้าบาติกนั้นมา