หากพูดถึงอาหาร หลายคนที่กำลังหิวคงคิดเมนูเด็ดๆ แต่เชื่อไหมว่า เราอยู่ได้ด้วยการกิน และการกินก็ทำให้เราตายได้ด้วย เรียกว่า มีทั้งคุณและโทษในตัวมันเอง ถ้ากินมากก็อ้วนมาก โรคเยอะ กินน้อยก็ขาดสารอาหาร โรคก็เยอะอีก สรุปแล้วกินพอดีๆ และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อตัวเองเพื่อสุขภาพทีดีของเรากันดีกว่า
จากคำกล่าวของ ดร.กมล ไชยสิทธิ์ ซึ่งท่านเป็นนักกำหนดอาหารวิชาชีพและนักเภสัชวิทยา ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ (Vitallife) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้มาเล่าถึงเคล็ดลับสุขภาพกับการกินที่ส่งผลต่อสุขภาพ รวมทั้งการทำให้ชีวิตยืนยาว ซึ่ง ดร.กมล บอกเอาไว้คือ เราควรทานทุกอย่าง เพราะความหลากหลายของอาหารนั้นดีกับร่างกายของเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราควรแยกประเภทอาหารที่เราควรทานเป็นประจำกับอาหารที่ทานได้บ้างเป็นครั้งคราว นี่ถือเป็นเคล็ดลับการกินเพื่อให้อายุยืนยาว
สำหรับการบริโภคที่เหมาะสมกับร่างกายถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องลดการดูดซึมของพลังงานอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเราลดการดูดซึมของแครอลลี่ในขณะที่เรายังรักษาสารอาหารที่เราทานเข้าไปให้อยู่ในระดับสูงสุดได้ ทำให้เรามีชีวิตยืนยาว ดูอ่อนเยาว์ และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง
ตัวอย่างที่ดีที่สุดในการบริโภคอาหารอย่างสมดุลคือชาวเมืองโอกินาวา เมืองที่มีอัตราประชากรที่อายุยืนที่สุดในโลกของญี่ปุ่น ที่มีทั้งการเลือกบริโภคที่ให้ทั้งสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาว ชาวโอกินาวานิยมรับประทานอาหารที่มีผักเป็นหลัก ทั้งผักสีเขียว สีเหลืองและพืชผักจำพวกถั่ว ปลา ส่วนข้าว และเนื้อสัตว์จะทานในปริมาณน้อย น้ำตาลก็ต้องน้อยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าความหวานนี่มีอันตรายต่อเซลล์ และตัวกระตุ้นอนุมูลอิสระได้อย่างดี
อาหารสุขภาพเพื่ออายุยืนนี้จึงแนะนำว่า ร่างกายเราต้องการน้ำตาลในปริมาณ 6 ช้อนต่อวัน ซึ่งในการวัดปริมาณบริโภคจะทำได้ง่ายขึ้นเป็นเรื่องง่ายถ้าเราทำอาหารทานเอง แต่ต้องยอมรับว่าเราทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นโดยเฉพาะอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตพร้อมรับประทานซึ่งมีปริมาณน้ำตาลอยู่มาก รวมไปอาหารที่เน้นน้ำตาลเป็นหลัก เช่น ไอศกรีม น้ำอัดลม คุ๊กกี้ รวมไปถึง เครื่องดื่มให้พลังงาน โยเกิร์ต อาหารแช่แข็งพร้อมรับประทาน และขนมปัง นอกจากนี้ ยังมีรายงานมากมายว่าการบริโภคน้ำตาลจำนวนมากทำให้เพิ่มอัตราการเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ และเบาหวาน นอกจากนี้ยังเพิ่มอัตราการเสี่ยงก่อให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
ดร.กมล บอกอีกว่า ทุกคนควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ อย่างจำพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต แนะนำว่าควรเลือกทานกลุ่มธัญพืชอย่างเช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้องหรือพาสต้า ขนมปังธัญพืช เมล็ดควินหวา และข้าวสาลี อาหารตระกูลแป้งจำพวกนี้ มีไฟเบอร์สูงซึ่งร่างกายเราจะดูดซึมได้ช้า ช่วยทำให้ระดับน้ำตาลในตัวเราไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
น้ำมันมะกอกนับเป็นสุดยอดของไขมันดี ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการอักเสบต่างๆ การรับประทานน้ำมันมะกอกให้ได้ประโยชน์มากที่สุดคือทำน้ำสลัดหรือนำไปใช้ทอดอาหารในอุณภูมิต่ำ นอกจากนี้ยังมี น้ำมันเมล็ดชา (ได้จากชาเขียว) ซึ่งก็มีสารต้านอนุมูลอิสระและมีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการอักเสบเช่นกัน ส่วนน้ำมันที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 อย่างน้ำมันงาขี้ม้อน ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่แพ้กันเลยทีเดียว
สำหรับการทำอาหารทานเอง ดร.กมลแนะนำว่า
ให้สับกระเทียมทิ้งไว้ 10 นาทีก่อนนำลงไปผัดในกระทะ เพื่อให้กระเทียมได้สร้างสารอัลลิซินซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลอคลอเรสเตอรอลได้อย่างเต็มที่ ควรรับประทานผักให้หลากสี ซึ่งรวมไปถึงสีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีอื่นๆ ผสมกัน ซึ่งมื้ออาหารที่ดีที่สุดควรประกอบไปด้วย ผัก 50 เปอร์เซ็นต์ โปรตีน 25 เปอร์เซ็นต์ และแป้ง 25 เปอร์เซ็นต์
นักโภชนาการหลายท่านแนะนำว่าอาหารแนวเมดิเตอร์เรเนียนดีต่อสุขภาพมากที่สุด ซึ่งได้แก่ ผลไม้ ผัก พืชตระกูลถั่ว น้ำมันมะกอก และเนื้อสัตว์จำพวกปลาเป็นหลัก นอกจากนี้ อาหารไทยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงเช่นกัน เพราะมีส่วนผสมของผักสดหลากหลายชนิด เครื่องเทศต่างๆ อีกทั้งผลไม้และสมุนไพรอย่างเช่น ผักชี ใบกระเพรา ขิง และกระเทียม อย่างไรก็ดีเราควรจำกัดปริมาณการใช้น้ำมัน กะทิ และน้ำตาลให้อยู่ในจำนวนน้อย
เราควรทานอาหารเช้าภายใน 1 ชม.หลังจากตื่นนอน จากนั้นควรรอซัก 3-4 ชั่วโมง เพื่อทานมื้อกลางวันซึ่งเป็นมื้อที่ดีที่สุดในการรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ ส่วนมื้อเย็นควรทานหลังจากมื้อกลางวันประมาณ 6 ชั่วโมง สำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับให้เลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงและโปรตีนต่ำในมื้อเย็น
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์กับมื้ออาหาร หากคุณดื่มไวน์แดง 1 แก้วต่อวันก็จะสามารถช่วยบำรุงสุขภาพได้เช่นกัน เพราะไวน์แดงอุดมไปด้วยสารเรสเวอราทรอล ที่ช่วยลดอาการหลอดเลือดอุดตัน ช่วยลดการอักเสบและลดคอเรสเตอรอล เคล็ดลับนี้ น่าจะลองทำดู ไม่แน่ว่าคุณจะได้สุขภาพดีและอายุยืนกลับมาอย่างที่ ดร.กมลกล่าวไว้ก็เป็นได้
ขอบคุณเนื้อหา จากคอลัมน์ กินกันโรค เรื่องโดย เจษฎา พาชิม ภาพจาก internet