ขึ้นชื่อว่า มะเร็ง โรคร้ายอันดับต้นบนโลกนี้ที่สามารถคร่าชีวิตมนุษย์ไปอย่างมากมายในทุกๆ ปี มีหญิงกว่า 2 ล้านคนถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งทรวงอก ส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตรอดได้ ข้อนี้ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่มีความหวังให้อย่างเงียบๆ แต่ทว่าไม่อาจลบเลือนความกลัวที่มาพร้อมการรับรู้ว่าตนเองกลายเป็นส่วนหนึ่งของโรคนี้
แมมมาคาร์ซินอม คือชื่อทางการแพทย์ของ มะเร็งทรวงอก หรือ มะเร็งเต้านม มะเร็ง ที่ผู้หญิงส่วนใหญ่เป็นกันมากที่สุด ประมาณกันว่า 1 ใน 20 คนของสตรีจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ อย่างไรก็ดี การเยียวยารักษามะเร็งทรวงอกก็ได้มีการพัฒนาไปมาก ยิ่งหากได้รับการตรวจพบเซลล์มะเร็งเสียแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
มะเร็งเต้านม มีผลต่ออวัยวะที่สำคัญมากของผู้หญิง มันมีผลต่อความเป็นหญิง เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กถึงความสำคัญของหน้าอก ความเกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงและเรื่องเพศ คนมองเราอย่างไรและเราสวยงามแค่ไหน เพราะผู้หญิงทุกคนจะกังวลกับภาพลักษณ์ภายนอกมาก นั่นคือจากมุมมองในเรื่องที่ลึกซึ้ง ส่วนมะเร็งเต้านมในหญิงไทยนั้น เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับสอง รองจากมะเร็งปากมดลูก มักเกิดในหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป และพบมากในหญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย อีกส่วนหนึ่งคือในผู้ที่มีประวัติว่าญาติพี่น้องเคยเป็นมะเร็งเต้านม แต่ผู้หญิงที่มีอายุน้อยหรือแม้แต่ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน เพียงแต่พบได้น้อย สาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่นอนแต่ในทางระบาดวิทยาอาหารที่มีไขมันสูงมีส่วนทำให้เกิดโรคได้
การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกใช้วิธีใดต้องขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งมะเร็งที่ตรวจพบส่วนใหญ่ในประเทศไทย จะรักษาโดยวิธีการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกร่วมกับการรักษาด้วยวิธีเสริมอื่นๆ ซึ่งในการผ่าตัดมีด้วยกัน 4 แบบหลัก คือ
- “Modified Radical Mastectomy” ซึ่งเป็นวิธีผ่าตัดรักษาแบบมาตรฐาน ศัลยแพทย์จะตัดเอาเนื้อเยื่อของเต้านมออกหมด ตัดผิวหนังนมบางส่วนรวมถึงหัวนม และบางส่วนของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก
- “Total Mastectomy” หรือบางทีเรียกว่า Simple Mastectomy วิธีนี้ศัลยแพทย์จะตัดเอาเนื้อเยื่อของเต้านม(ต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม และเนื้อเยื่อไขมัน) รวมถึงผิวบางส่วนและหัวนมออกไป
- “Lumpectomy” เป็นการตัดเฉพาะก้อนเนื้องอก และเนื้อเยื่อปกติรอบๆ บางส่วนออกไป ในกรณีที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรกยังไม่ลุกลาม โดยทำร่วมกับรังสีรักษา
- “Partial or Segmental Mastectomy” โดยการตัดก้อนมะเร็ง และเนื้อเยื่อบางส่วนของเต้านม ซึ่งเกิดมะเร็งออกไปในกรณีที่ก้อนมะเร็งยังไม่โตและไม่ลุกลามมาก โดยทำร่วมกับรังสีรักษา
การผ่าตัดด้วยวิธีใดก็ตาม อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดปลอดภัยจากโรคร้าย แต่เบื้องหลังของความสำเร็จนั้นตามมาด้วยความทุกข์ในรูปแบบใหม่ เมื่อผู้ป่วยต้องเผชิญกับความจริงอันโหดร้ายทางร่างกายเพราะโดยส่วนใหญ่จะยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วไม่ได้
ประเด็นสำคัญก็คือการรักษามะเร็งเต้านมไม่อาจรักษาความเป็นหญิงที่สมบูรณ์ไว้ได้ ดังนั้น พวกเธอจึงต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตใจจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจจากสามี ความรักและเอาใจใส่จากคนในครอบครัว เพื่อให้เธอสามารถต่อสู้และฝ่าภัยกับความโหดร้ายที่เกิดขึ้นได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งโครงการ รีช ฟอร์ รีคัฟเวอรี่ (Reach for recovery) และโครงการลุค กู๊ด ฟีล กู๊ด เป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามเพื่อช่วยให้ผู้หญิงจัดการกับมะเร็งเต้านมและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจนผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้
การหลีกเลี่ยงมะเร็งทรวงอก
การคลำเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง มีวิธีการอย่างไรบ้าง? การคลำเพื่อตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองนั้นมีความสำคัญอย่างมาก วิธีคลำทำไม่ยาก เพียงชโลมเบบี้ออยล์ลงบนผิวเพื่อหล่อลื่น จากนั้นยกแขนที่อยู่ข้างเดียวกับเต้านมข้างที่ต้องตรวจขึ้น แล้วใช้นิ่วของมืออีกข้างหนึ่งคลำแบบกดๆ โดยรอบบริเวณหัวนม กดคลำไปรอบๆแบบขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนทั่วทุกจุดบนทรวงอก หากพบว่ามีก้อนเนื้อผิดสังเกตที่กดโดนแล้วจะเจ็บปวดมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ทำการตรวจวินิจฉัย อย่างไรก็ตามก้อนเนื้อที่ผิดสังเกตดังกล่าว อาจจะไม่ใช่เซลล์มะเร็งในทุกกรณีไป เพราะการตรวจด้วยวิธีการคลำยังไม่ละเอียดลึกซึ้งเพียงพอ
การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมโดยแพทย์ มีกี่วิธีอย่างไรบ้าง? นอกเหนือจากการสังเกตดูลักษณะของเต้านม และบีบหัวนมดูว่ามีน้ำหรือของเหลวอะไรไหลออกมาหรือไม่ แล้วยังมีการตรวจวินิจฉัยที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอีก ดังนี้
- แมมโมกราฟี่ (Mammography) และ ซีโรแมมโมกราฟี่ (Xeromammograhy) เป็นการตรวจวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์ฉายรังสี โดยอย่างแรกจะได้ภาพออกมาเป็นฟิล์มเนกาทีฟ ส่วนอย่างหลังจะได้เป็นภายโพซิทีฟที่ชัดเจน การตรวจด้วยวิธีนี้นับเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสามารถค้นพบเซลล์มะเร็งเพิ่งจะเริ่มก่อตัวเลยทีเดียว ซึ่งสำหรับผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35-40 ปีขึ้นไป และสำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัว อาทิ คุณแม่หรือคุณย่าเคยป่วยเป็นโรคนี้ ควรหมั่นไปตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการแมมโมกราฟี่ ทุกๆ 2 ปี
- การใช้เข็มเจาะ ซึ่งมีสองระดับ ระดับแรกจะเจาะตรงบริเวณก้อนเนื้อที่ผิดปกติ เพื่อดูเอกแต่น้ำหรือของเหลวภายในมาตรวจ ในขณะที่ระดับที่สองจะใช้เข็มใหญ่ดูดเอกชิ้นเนื้อในบริเวณที่ผิดปกตินั้นเพื่อมาตรวจ
- การผ่าตัดตรวจชิ้นเนื้อ อาจจะผ่าออกทั้งก้อนหรือบางส่วน ถ้าตรวจแล้วพบว่าชิ้นเนื้อนั้นเป็นเนื้อร้ายหรือเป็นมะเร็งก็จะต้องรีบทำการผ่าตัดออกไปอย่างเร่งด้วย
โอกาสรักษามะเร็งเต้านมในแต่ละระยะมีมากน้อยแค่ไหน อย่างไร?
- ถ้าก้อนเนื้อนั้นถูกค้นพบตั้งแต่ยังเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.3-2 ซม. ซึ่งจะสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการทางแมมโมกราฟี่ โอกาสที่จะรักษาให้หายอาจจะมีถึง 90-96 เปอร์เซ็นต์
- หากก้อนเนื้อนั้นใหญ่จนสามารถคลำพบได้ด้วยตัวเอง คือใหญ่สักประมาณ 3 ซม. โอกาสที่จะสามารถรักษาให้หายจะเหลือเพียง 75-80 เปอร์เซ็นต์ (โอกาสจะลดลงเรื่อยๆ หากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่กว่านี้ และเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปแล้ว)
วิธีรักษาโรคมะเร็งเต้านม มีด้วยกันกี่วิธี อย่างไรบ้าง?
การให้การรักษาในคนไข้แต่ละรายจะแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์มะเร็งแพร่ไปถึงระยะไหน ซึ่งวิธีการมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี คือ
- ผ่าตัด โดยปกติแพทย์จะให้การรักษาด้วยวิธีนี้เฉพาะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งจะผ่าเอกแต่ก้อนเนื้อร้ายออก โดยพยายามหลีกเลี่ยงที่จะตัดเต้านมทั้งหมดของผู้ป่วยทิ้ง เพราะการผ่าตัดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและรูปร่างของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
- ฉายแสง อาจใช้เพียงการฉายแสงอย่างเดียวหรือใช้เสริมภายหลังการผ่าตัดด้วย เพื่อให้ผลการรักษาสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยฉายไปที่บริเวณเต้านมและรักแร้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนั้นจะช่วยทำลายเซลล์มะเร็งให้ค่อยๆ หมดไป อย่างไรก็ดีวิธีการนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ ทำให้คนไข้รู้สึกเหนื่อย เพลีย ไม่มีแรง แต่เมื่อหยุดฉายแสงอาการเหล่านี้จะดีขึ้น
- การให้ยาเคมี เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และช่วยปรับระดับสมดุลของฮอร์โมน โดยอาจใช้ร่วมกับการรักษาแบบอื่น อย่างไรก็ดียานี้มีผลข้างเคียงต่อคนไข้ผู้ใช้ยาอยู่พอสมควร โดยจะทำให้ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียนและอ่อนเปลี้ยเพลียแรง
ภัยร้ายใกล้ตัวกับ มะเร็งทรวงอก ต้องระวังกันให้ดี